เจริญใจ สุนทรวาทิน (16 กันยายน พ.ศ. 2458 - 10 เมษายน พ.ศ. 2554) เป็นศิลปิน และนักวิชาการชาวไทยด้านศิลปวัฒนธรรมแบบราชสำนัก มีความสามารถในด้านการละคร ชำนาญในการบรรเลงเครื่องดนตรีไทยประเภทวงเครื่องสายและวงมโหรี โดยเฉพาะซอสามสาย มีความเชี่ยวชาญในการขับร้องเพลงประกอบการแสดงนาฏกรรม รวมถึงเพลงไทยเพื่อการฟังตามแบบฉบับและแนวทางร่วมสมัย กล่าวได้ว่า เป็นผู้ที่มีน้ำเสียงไพเราะ ขับร้องด้วยอารมณ์อันสมจริง ประณีตละเมียดละไม ได้อรรถรสของวรรณคดี ได้รับการขนานนามจากนักดนตรีไทยว่าเป็น “เพชรประดับมงกุฎแห่งคีตศิลป์ไทย”
เจริญใจ สุนทรวาทิน เป็นที่รู้จักในวงการเพลงไทยตั้งแต่วัยเยาว์ เคยเป็นข้าราชบริพารในยุคก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เคยได้รับรางวัลชนะเลิศระดับชาติจากการประกวดขับร้องเพลงไทย เป็นครูผู้ควบคุมวงดนตรีและสอนการขับร้องเพลงไทย เป็นอาจารย์ผู้ถวายงานสอนดนตรีและขับร้องแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์) ประจำปีพุทธศักราช 2530 จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
เจริญใจ สุนทรวาทิน หรือชื่อที่รู้จักโดยทั่วไปว่า “อาจารย์เจริญใจ” เกิดเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2458 เป็นบุตรีของพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) กับคุณหญิงเสนาะดุริยางค์ (เรือน) เกิด ณ บ้านย่านคลองบางไส้ไก่ ฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร บิดาเป็นนักดนตรีไทยที่มีชื่อเสียงและเป็นเจ้ากรมพิณพาทย์หลวงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพี่น้องร่วมมารดาทั้งหมด 4 คน คือ เลียบ เลื่อน เชื้อ และเจริญ (นามเดิม) และมีพี่น้องต่างมารดาจำนวน 2 คน คือ ช้าและเชื่อง ในจำนวนพี่น้องทั้ง 6 คนนั้น มีพี่สาวคือ เลื่อน สุนทรวาทิน (ผลาสินธุ์) เป็นนักร้องเพลงไทยที่มีชื่อเสียง เมื่อแรกเกิดได้ไม่นาน บิดาได้นำทองคำบริสุทธิ์ฝนให้กินวันละหยดเป็นเวลา 3 วัน และได้ตั้งชื่อว่า “เจริญ” ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็น “เจริญใจ” ในภายหลัง และมีชื่อเรียกในหมู่พี่น้องว่า “เล็ก” เนื่องจากเป็นลูกคนสุดท้อง
ในเบื้องต้น เริ่มศึกษาวิชาสามัญที่โรงเรียนศึกษานารี จนจบมัธยมศึกษาปีที่ 1 แล้วมาศึกษาที่โรงเรียนราชินีจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ต่อมาพระยาเสนาะดุริยางค์เห็นว่ามีความสามารถในด้านดนตรี จึงขอให้ออกจากการศึกษาวิชาสามัญมาอุทิศเวลาให้กับการเรียนดนตรีอย่างเดียว โดยบิดาได้สอนดนตรีและสอนการขับร้องเพลงไทยเป็นการเฉพาะ เมื่อถวายตัวเข้ารับราชการในกรมมหรสพ ได้ศึกษาทักษะและทฤษฎีดนตรีไทยกับครูผู้ใหญ่หลายท่าน เช่น พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) พระเพลงไพเราะ (โสม สุวาทิต) หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) และ มนตรี ตราโมท ภายหลังได้ศึกษาการสีซอสามสายจากพระยาภูมิเสวิน (จิตร จิตตเสวี) หลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน) และ เทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล
เริ่มรับราชการครั้งแรก โดยเข้าถวายตัวเป็นข้าหลวงเรือนนอก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำหน้าที่ขับร้อง ต่อมาได้ถวายตัวเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำหน้าที่ขับร้องและบรรเลงประจำวงมโหรีหลวง ต่อมาจึงได้โอนไปสังกัดกรมพระราชวังและกรมศิลปากร ตามลำดับ และได้ย้ายไปสอนประจำการที่โรงเรียนการเรือนพระนครและโรงเรียนอนุบาลลอออุทิศ จนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง จึงลาออกจากราชการ
ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้กลับเข้าสอนในตำแหน่งครูผู้สอนประจำชมรมดนตรีไทย สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ส.จ.ม.) ตั้งแต่ พ.ศ. 2508 และได้ถวายการสอนดนตรีแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นการส่วนพระองค์ เมื่อครั้งเสด็จเข้าศึกษาเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2516 ตลอดจนได้เป็นอาจารย์ควบคุมวงและสอนขับร้องในสถาบันและสโมสรต่าง ๆ ทั้งที่เป็นของภาครัฐและเอกชน ได้แก่ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สโมสรอาสากาชาด สภากาชาดไทย ชมรมดนตรีไทย ธนาคารกสิกรไทย เป็นต้น
เจริญใจ สุนทรวาทิน เริ่มเข้าสู่วงการเพลงไทยครั้งแรกเมื่ออายุ 8 ขวบ โดยได้เข้าร่วมการขับร้องประชันวงปี่พาทย์ในงาน “สี่มะเส็ง” ณ วังบางขุนพรหม เมื่อ พ.ศ. 2466 ได้รับรางวัลที่ 3 และถือเป็นนักร้องที่มีอายุน้อยที่สุดในขณะนั้น ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2492 ได้เข้าร่วมการประกวดขับร้องเพลงไทยทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมโฆษณาการ ได้รับรางวัลชนะเลิศ
เจริญใจ สุนทรวาทิน มีผลงานการบันทึกแผ่นเสียงนับตั้งแต่ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ราว 50 เพลง ได้มีผลงานเรื่อยมาทั้งในรูปแบบของแถบบันทึกเสียง แถบวีดิทัศน์ เมื่อ พ.ศ. 2518 ได้รับเชิญจากกรมศิลปากรให้ร่วมขับร้องและบรรเลงเพลงเดี่ยวซอสามสายไว้เป็นแบบฉบับ และยังได้ร่วมบันทึกเสียงขับร้องในเพลงประเภทต่าง ๆ กับวงดนตรีหลายคณะ เช่น "คงคะศิลป์" "วัชรบรรเลง" "กรมศิลปากร" ฯลฯ ตลอดจนการบันทึกเสียงขับร้องเพลงประกอบการแสดงละครดึกดำบรรพ์ และเพลงร้องต่าง ๆ ภายใต้โครงการพัฒนาดนตรีไทยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไว้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังได้รับเชิญร่วมบันทึกเสียงเพลงกล่อมลูกภาคกลางร่วม 30 เพลง กับสถาบันภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษาในด้านการขับร้องและการบรรเลงดนตรีไทยให้กับโครงการแสดงดนตรีของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้รับเชิญจากวงดนตรีฟองน้ำให้ไปเผยแพร่วัฒนธรรมดนตรีไทยราชสำนัก ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร และได้ตั้งวงดนตรีไทยขึ้น 2 วง คือ คณะ “เสนาะดุริยางค์” และ “ฟังเพลินเจริญใจ”
นอกจากนี้แล้ว ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯ ให้ขับร้องถวายในบทเพลงพระราชนิพนธ์ส่วนพระองค์ เช่น "เต่าเห่" "แขกปัตตานี" "สมิงทอง-จำปานารี" "แขกลพบุรี" "อกทะเล" ฯลฯ ตลอดจนเป็นที่ปรึกษาในด้านการบรรเลงและขับร้องเพลงไทยในโครงการพระราชดำริต่าง ๆ เช่น มูลนิธิสายใจไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และครั้งหนึ่ง ได้เคยเข้าเฝ้าฯ หน้าพระที่นั่งเพื่อบรรเลงซอสามสายไปพร้อมกับการขับร้องถวายในโอกาสรับเสด็จสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก เมื่อครั้งยังทรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมารี เมื่อคราวเสด็จฯ เยือนประเทศไทยเป็นการส่วนพระองค์
ในด้านสื่อสารมวลชน เคยเป็นผู้ดำเนินรายการร่วมกับ พูนพิศ อมาตยกุล ในรายการ “ฟังเพลินเจริญใจ" เผยแพร่ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
เจริญใจ สุนทรวาทิน ได้รับเชิญให้เป็นกรรมการการตัดสินวงดนตรีไทยและการขับร้องเพลงไทยในหลายวาระ เป็นกรรมการสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาในคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาได้รับเชิญจากทบวงมหาวิทยาลัยให้เป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการจัดทำเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทย และได้รับเกียรติเข้าเป็นภาคีสมาชิก ประเภทวิจิตรศิลป์ สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน
เริ่มมีผลงานเขียนครั้งแรกเมื่อราว พ.ศ. 2518 ปรากฏในหนังสือของชมรมดนตรีไทย สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาได้เรียบเรียงอัตชีวประวัติบันทึกประสบการณ์ทางดนตรี จัดพิมพ์เป็นหนังสือฉบับสมบูรณ์ ชื่อ “ข้าพเจ้าภูมิใจที่เกิดเป็นนักดนตรีไทย” เมื่อ พ.ศ. 2530 และได้ริเริ่มงานเขียนที่เกี่ยวข้องกับการขับร้องเพลงไทยเผยแพร่ลงหนังสือที่ระลึกในโอกาสสำคัญ ตลอดจนได้รับเชิญให้เป็นผู้บรรยายและวิทยากรผู้ให้ความรู้ด้านดนตรีไทยและการขับร้องเพลงไทยแก่สถาบันการศึกษาและหน่วยงานราชการต่าง ๆ ตลอดมา
เจริญใจ สุนทรวาทิน มีผลงานการประพันธ์ทางขับร้องเพลงไทยในแนวอนุรักษ์ จำนวน 3 เพลง คือ "สาวสุดสวย เถา" "จินตะหราวาตี เถา" และ "พญาสี่เสา เถา" นอกจากนี้ยังได้ประพันธ์ทางขับร้องเพลงไทยที่เป็นแนวทางร่วมสมัย ได้แก่ "ลบรอยแผลรัก เถา" และบรรจุเพลงสำหรับการขับร้องอีกจำนวนหนึ่ง คือ "ฉลองพระนคร" "ลาวพวน" และ "จุ๊บแจง" เมื่อ พ.ศ. 2526 ได้รับพระบรมราชานุญาต ให้ทำทางร้องและบรรจุเพลงประกอบบทพระราชนิพนธ์ "ฉันท์ดุษฎีสังเวยพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร" ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี และในช่วงถัดมา ได้ร่วมมือกับองค์การยูนิเซฟ และธนาคารกสิกรไทย จัดทำหนังสือและแถบบันทึกเสียง ชุด “เพลงสยามสำหรับเด็ก” และ “เพลงเทศกาลสยาม” ประกอบด้วยโน้ตเพลงและการขับร้องประกอบวงดนตรีไทยและสากลตีพิมพ์เผยแพร่ไปทั่วโลก โดยมีเพลงที่สำคัญเพลงหนึ่ง คือ “เพลงวันเกิด” ซึ่งเป็นเพลงอวยพรวันเกิดที่มีเนื้อร้องเป็นภาษาไทย เมื่อ พ.ศ. 2540 ได้รับเชิญจากสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมดำเนินการควบคุมการบันทึกเสียงและขับร้องบทพระราชนิพนธ์เรื่อง “เงาะป่า” ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรูปของออดิโอซีดีจำนวน 26 ชุด สิ้นสุดการบันทึกเสียงเมื่อ พ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นการบันทึกเสียงเพลงไทยที่ใช้บทร้องจากบทละครตลอดทั้งเรื่อง โดยใช้คณะนักร้องและทางขับร้องในสายสกุลพระยาเสนาะดุริยางค์ทั้งสิ้น
เจริญใจ สุนทรวาทิน ได้ถ่ายทอดวิชาการดนตรีไทยให้กับศิษย์ทั้งการบรรเลงซอสามสายและการขับร้องเพลงไทย ส่วนใหญ่เป็นนิสิตเก่าจากคณะต่าง ๆ ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานและมีคุณวุฒิเป็นที่ยอมรับในหลากหลายสาขาอาชีพ ตัวอย่างศิษย์ในด้านการขับร้อง ศิษย์ที่มีชื่อเสียงและเป็นนักดนตรีไทย ได้แก่ ณัฐวิภา มูลธรรมเกณฑ์ สุกัญญา กุลวราภรณ์ ดุษฎี สว่างวิบูลย์พงศ์ ภมร บุญยัง สมพร ทองสีเขียว จตุพร สีม่วง ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีศิษย์สายขับร้องที่มาจากสาขาอาชีพอื่น ๆ เช่น อนุพงศ์ สุทธินรเศรษฐ์ ยมโดย เพ็งพงศา ประพจน์ อัศววิรุฬหการ จารุวรรณ ชลประเสริฐ เอื้อพงศ์ จตุรธำรง จันทรา สุขวิริยะ นิตยา แดงกูร ฯลฯ ในด้านซอสามสาย บุคคลที่มีชื่อเสียงและเป็นศิลปินวิชาชีพ เช่น เลอเกียรติ มหาวินิจฉัยมนตรี นิติธร หิรัญหาญกล้า ยุทธนา ฉัพพรรณรัตน์ รัชวิทย์ มุสิการุณ ฯลฯ รวมไปถึง บัณฑูร ล่ำซำ นักธุรกิจที่สำคัญในวงการธนาคารและเศรษฐกิจของไทย
เจริญใจ สุนทรวาทิน เป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรงมาโดยตลอด ในช่วงเวลาบั้นปลาย ได้ใช้ชีวิตภายในเรือนที่ปลูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยภายในซอยแสนสบาย ถนนพระรามที่ 4 เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานนามว่า “เรือนมโหรี”
ในเวลาต่อมาได้ป่วยด้วยอาการของโรคพาร์กินสันในระยะเริ่มต้น จึงเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จนมีอาการดีขึ้น แต่ก็ยังมีอาการของโรคชราสืบเนื่องมาเป็นลำดับ
ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2554 ด้วยเส้นโลหิตในสมองแตก ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศิริอายุรวม 94 ปี 6 เดือน 25 วัน
ได้มีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2554 ตั้งบำเพ็ญกุศลศพ ณ วัดเทพศิรินทราวาส และเก็บศพเพื่อบำเพ็ญกุศลเป็นเวลา 100 วัน ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุด้านใต้ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2555
เจริญใจ สุนทรวาทิน ได้รับการยกย่องเป็นสตรีดีเด่น ผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติในฐานะศิลปินคนแรก เนื่องในปีสตรีสากล พ.ศ. 2518 ได้รับปริญญาศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งเป็นเกียรติยศที่ได้รับในปีเดียวกันทั้งสิ้นเมื่อ พ.ศ. 2530